
ช่วงสถานการณ์ COVID-19 แต่ละอุตสาหกรรมเหมือนถูกโคขวิดตามๆกันไป แต่ก็ทำให้หลายๆคนเริ่มมีเวลาทบทวนสิ่งที่ตนเองทำมาในแต่ละวันที่เร่งรีบ ว่ามีอะไรที่น่าจะปรับเปลี่ยน อะไรที่น่าจะเพิ่มเติม หรืออะไรที่ไม่น่าจะทำมันต่อ บทความแนววิชาการอันนี้ เริ่มจากที่อยากจะทำ แล้วตามมาด้วยเหตุผลมากมายที่ยกมาอ้างเพื่อไม่ทำต่อ ทั้งด่าทอตัวเองไปแล้วก็หลายครั้งให้ทำๆ เมื่อย้อนไปดูสถิติการเข้าถึงของบทความเก่าๆที่เขียน ปรากฎว่ามีผู้คนเข้ามาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ไปโปรโมทอะไรเลย นอกจากเขียนในสิ่งที่รู้ เพื่อให้ทุกคนในรู้ในสิ่งที่เขียน จึงเกิดแรงฮึดใหม่ ตั้งใจว่าช่วงโคขวิดนี้ จะเขียนให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 บทความ เพื่อเปลี่ยนนิสัยตนเองให้สามารถเขียนแบบสม่ำเสมอไปได้ตลอดในอนาคต

เราเรียนรู้เรื่องวัสดุที่ทำเม็ดมีดและปัจจัยการตัดมาแล้ว ล่าสุดคือเรื่องมุมมน ที่มีผลกระทบกับความเรียบผิว และความแข็งแรงของเม็ดมีด จึงเป็นที่มาที่จะพูดถึงลักษณะทางกายภาพของเม็ดมีดกัน ซึ่งหลายคนมองข้ามจุดง่ายๆจุดนี้ไป โดยจะอ้างอิงตามมาตรฐานเม็ดมีด ISO เพราะถ้าจะไปเอ่ยถึงการลับมีดขาวใช้เอง มันดูจะเป็นยุคโบราณไปแล้ว

ลักษณะรูปทรงของเม็ดมีดนั้น เหมือนสมัยเราเรียนเรขาคณิต มีรูปทรง วงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ฯลฯ ซึ่งหลังผ่านการตกผลึกจากการใช้งานในเชิงอุตสาหกรรม ก็เกิดรูปทรงมาตรฐานต่างๆสำหรับงานกลึงขึ้นมา (เน้นนะครับว่างานกลึง เพราะพอเข้าสู่งานกัดงานปาดนั้น ต่างคนต่างจินตาการกันไป)
C = ยังนึกไม่ออกมาจากภาษาอังกฤษว่าอะไร แต่ก็เป็นทรงขนมเปียกปูนที่มีองศา 80 (2มุม)
D = Diamond shape (ข้าวหลามตัด) เป็นทรงขนมเปียกปูนองศา 55 (2มุม)
R = Round วงกลมเลยครับ
S = Square สี่เหลี่ยมจัตุรัส (4มุม)
T = Triangle สามเหลี่ยมด้านเท่า (3มุม)
V = อันนี้น่าจะเพราะคล้ายอักษรตัว V ปลายแหลมองศา 35 (2มุม)
W = ไม่รู้เช่นกัน แต่เป็นการรวมตัวของ T + C = เป็นเม็ดที่มีองศา 80 แต่มี 3 มุม

ถัดจากรูปทรงมีด ให้เรามองด้านข้างเม็ดมีด ก็จะเห็นเป็นสองแบบ คือ แบบแรกด้านบนและด้านล่างขนาดเท่ากัน เหมือนสีเหลี่ยมผืนผ้า ส่วนอีกแบบด้านล่างก็จะมีขนาดลดลง เหมือนคางหมูกลับด้าน ซึ่งเราจะเรียกกันในภาษาเครื่องมือตัดว่า
– เม็ด Negative คือ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีข้อดีคือสามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ด้าน
– เม็ด Positive คือ ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ใช้ได้ด้านเดียวเท่านั้น

หลายท่านคงเริ่มคิดว่า ถ้ายังงั้น เราใช้เม็ด Negative เลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะสามารถใช้ได้สองด้าน จำนวนมุมที่ใช้ได้ก็เป็น 2 เท่า เม็ดสามเหลี่ยม ก็ใช้ได้ถึง 6 มุม แต่ท่านคงลืมมองเรื่องแรงต้านในการตัดระหว่างกลึง เนื่องจากถ้าเป็นเม็ด Negative เราต้องกระดกเม็ดให้เอียง เพื่อหลบไม่ให้ด้านล่างสัมผัสโดนชิ้นงาน ซึ่งทำให้การตัดเฉือนเป็นมุมลบ คิดง่ายๆเหมือนเราปอกผลไม้เราจะเอียงมีดเพื่อให้ปอกง่าย แต่ถ้าเราเอียงกลับทิศ (Negative) ก็จะเข้าใจ ว่าแรงต้านในการตัดเฉือนคืออะไร

ถ้ามองในเชิงวิศวกรรม เมื่อเราเอียงมีด Negative แรงที่กระทำลงเม็ดก็จะโดนแตกแรงตามรูปด้านบน จะมีแรงต้านแนวนอน ในขณะที่เม็ด Positive แรงกดลงมาตรงๆ ไม่มีแรงต้านแนวนอนเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าเม็ด Negative จะมีโอกาสเกิดการสะท้านได้มากถ้าการจับยึดด้ามหรือเม็ดไม่แข็งแรงพอ จึงเป็นที่มาของการนำไปใช้สำหรับงานหยาบหรือปานกลาง ส่วนเม็ด Positive แรงกดลงตรงๆทั้งหมด ความแข็งแรงของเม็ดก็บอบบาง จึงเหมาะกับงานเก็บละเอียด

นอกจากนั้นเม็ดมีดทรงเดียวกัน ก็จะมีแบบมีรู กับไม่มีรู ซึ่งถ้าเป็นในสมัยอดีตนั้นเม็ดส่วนใหญ่จะไม่มีรูู การที่เม็ดมีรูก็คงจะต้องมีสาเหตุกันให้ขบคิดกันต่อว่าทำไม

วันนี้ได้เรียนรู้กันคร่าวๆเรื่องรูปทรงของเม็ดมีด ซึ่งแต่ละทรงมีดก็อยู่ที่จุดประสงค์ในการใช้งานของเรา งานหยาบเราควรเลือกเม็ด Negative เพื่อให้ได้มุมใช้งานมากที่สุด งานคว้านเก็บผิว ควรต้องเป็นเม็ด Postive เพื่อลดแรงสะท้านระว่างการตัด อย่างเม็ด V กับ เม็ด T ก็จะกินพื้นที่รองรับเม็ดมีดในขนาดที่ต่างกัน ซึ่งจะส่งผลมากขึ้นเวลาเลือกไปใช้ในงานคว้านรู บทความคราวหน้าจะมาพูดถึง ISO code ของเม็ดมีดงานกลึงกัน เพื่อเวลาที่เราอ่านชื่อเม็ดแล้ว ไม่ว่าจะจากผู้ผลิตไหน ก็จะทำให้พอจะรู้ได้คร่าวๆว่ามันคืออะไร และมันใช่หรือเปล่า