เรามาต่อกันกับตัวอักษรชุดสุดท้ายของรหัสเม็ดมีด ISO ที่เป็นตัวระบุประเภทของร่องคายเศษ (Chip Breaker) ถ้าแปลให้ตรงตัวเลย Chip ก็คือเศษจากการกลึง ไส ส่วน Breaker คือ การหัก สรุปรวมความเป็น การหักเศษที่เกิดจากการกลึง ไส (ต่อไปจะเรียก ร่องคายเศษ) ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อช่วยหักเศษที่เกิดจากการตัดเฉือนวัสดุ บางวัสดุอย่างเหล็กเหนียว ถ้าเป็นหน้ามีดเรียบๆ เศษที่ได้จากการกลึงก็จะไหลยาวไม่หัก จนไปพันชิ้นงาน และสะบัดจนสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้

ในอดีตนั้น เทคโนโลยีการผลิตเม็ดมีด ก็ยังเป็นแบบพื้นๆ ร่องคายเศษในยุคแรกๆ จะใช้ตัวเสริม Clamp ล๊อคเม็ดมีดเป็นตัว ปะทะ ให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของเศษและม้วนตัวกระทันหัน เพื่อให้เศษหักตัว

ต่อมาเมื่อมีการจับยึดแบบ Screw เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการระบายเศษออกในกรณีงานคว้าน (จะมีปัญหาเรื่องเศษระบายออกไม่ทันมากกว่างานปอกนอก) ร่องคายเศษแบบเจียรร่องลึกก็ถือกำเนิดขึ้น ถ้าสายช่างในอดีตที่ผ่านการจับเครื่องกลึงแบบ Manual มาก่อน คงจะจำได้กับการที่ต้องมาลับมุมมีดขาวเพื่อนำไปกลึงงาน

เมื่อความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์เม็ดมีดสูงขึ้น ทำให้สามารถทำแม่พิมพ์เพื่อปั๊มเม็ดมีดให้ออกมามีร่องคายเศษเป็นลายนูนต่ำและละเอียดสวยงาม ทำให้เราๆท่านๆเห็นร่องคายเศษในปัจจุบัน มีสวยงามราวกับเป็นศิลปะบนเม็ดมีด ซึ่งร่องคายเศษแบบนี้มีประสิทธิภาพในการหักเศษดีกว่า และราคาก็ถูกกว่าแบบเจียร แต่คมตัดอาจไม่เนี๊ยบเท่าเม็ดเจียร
ร่องคายเศษในปัจจุบัน จึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ แบบเจียร(ร่องขุด) กับ แบบ 3มิติ (ผิวนูนต่ำ) เรามาดูกันที่ร่องคายเศษแบบเจียรกัน เราจะเห็นความไม่สมมาตร จะมีด้านยาวกัยสั้นของร่อง ซึ่งทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา คือ เม็ดมีดมือซ้าย/เม็ดมีดมือขวา

การที่จะดูว่ามือของเม็ดมีดนั้นเป็นซ้ายหรือขวานั้น มีหลายหลักการ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าวิธีนี้สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ คือการเอาปลายเม็ดมีดด้านคมตัดนั้นหันเข้าหาตัวเอง ถ้าฝั่งคมตัด (ส่วนใหญ่จะยาวและมีคมตัด) อยู่ด้านไหนของเรา ก็เป็นมีดมือด้านนั้นๆ ตัวอย่างตามรูปด้านซ้าย คือเม็ดมีดมือขวา เพราะคมตัดอยู่ฝั่งขวา ในขณะที่เม็ดทางด้านขวา คมตัดอยู่ฝั่งซ้ายก็จะเป็นเม็ดมีดมือซ้าย (เริ่มงง)
TNMG160408R-C
TNMG160408L-C
ย้อนกลับมาที่อักษรตัวสุดท้ายของรหัสเม็ดมีด ISO หลังตัวเลข 6 หลัก จะเป็นตัวอักษรหรือตัวเลขก็ได้ เป็นการบ่งบอกถึงรูปทรงของ Chip Breaker ซึ่งชื่อนั้นตามแต่ผู้ผลิตจะตั้งขึ้นมา กรณีที่เป็นเม็ดมีดแบบมีมือ ก็จะมีตัวอักษร R (ขวา) หรือ L (ซ้าย) มาก่อนแล้วตามด้วย ชื่อของร่องคายเศษ

ร่องคายเศษมีออกมาหลากหลายแบบ โดยจะไปผูกกับเงื่อนไขการตัดเฉือนที่เหมาะกับร่องหักเศษ ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าก็เป็น อัตราป้อนมีดและระยะกินลึก ดังนั้นการจะเลือกร่องคายเศษที่เหมาะสม เราควรจะต้องรู้เงื่อนไขการตัดเฉือนที่เราใช้ก่อน หรือจะปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมกับร่องคายเศษที่เราใช้อยู่แทนก็ได้

เมื่อมีหลากหลายร่องคายเศษจากผู้ผลิตหลายๆเจ้า ผู้ผลิตบางเจ้าก็จะทำตารางเทียบรุ่นของร่องคายเศษมาให้เราๆท่านๆใช้เป็นไกด์ไลน์ประกอบการเปลี่ยนรุ่น ซึ่งบางทีการเปลี่ยนแปลงเพียงนิดหน่อยของเงื่อนไขและรูปทรงของร่องคายเศษ อาจส่งผลที่แตกต่างกับงานของเรา เนื่องจากเงื่อนไขและงานเรานั้นมีเคมีตรงกับแบบร่องคายเศษที่เลือกพอดี

รหัสเม็ดมีดงานกลึงแบบ ISO ทุกตัวอักษรและตัวเลขนั้น ถ้าเราเข้าใจที่มาที่ไป ก็สามารถช่วยให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้นจะเป็นพียงแค่พื้นฐาน แต่ก็เป็นพิ้นฐานสำคัญของงานตัดเฉือนวัสดุที่มีประโยชน์ การที่เราสามารถรู้ทรงเม็ดมีด และข้อดีข้อเสียของทรงเม็ดต่างๆจากการอ่านรหัส ISO เป็น ก็จะช่วยให้สามารถเลือกเม็ดมีดที่มีความเหมาะสมเบื้องต้นกับงานที่เราต้องการได้ดียิ่งขึ้น