
ตอนที่แล้วเราพูดกันถึงความเรียบผิว และระหว่างนั้นก็มีปัจจัยตัวหนึ่งปรากฏออกมาว่ามีผลกับความเรียบผิว อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยนั้นก็คือ มุมมน R (Nose Radius) วันนี้เราก็จะมาเรียนรู้กันว่ามุมมน R คืออะไร และมีผลกับการกลึงในแง่มุมต่างๆมากน้อยขนาดไหน

มุมมน R คือ มุมโค้งของปลายเม็ดมีดบริเวณคมตัดที่ไปสัมผัสชิ้นงาน มีหน่วยเป็น มม. ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ISO ที่มีขนาด 0.1, 0.2, 0.4, 0.8 และ 1.2 เพื่อสะดวกสำหรับการผลิตเป็นจำนวนมาก และเป็นมาตรฐานในการเลือกใช้จากแคตาล๊อค


ต่อเนื่องจากทฤษฎีความเรียบผิวที่เราได้เรียนรู้กันมาบทความที่แล้ว จะเห็นว่า R ที่มากขึ้นนั้นจะส่งผลให้ความเรียบผิวดีขึ้น (ตามสูตรการคำนวณ)

แต่ถ้าเรามองในเชิงแรงต้านในการตัด ด้วยมุม R ที่ใหญ่ก็จะทำให้แรงต้านในการตัดสูงขึ้น ถ้าเครื่องจักรมีกำลังไม่เพียงพอ หรืออุปกรณ์จับชิ้นงานไม่มั่นคงเพียงพอ ก็จะเกิดการสะท้านในระหว่างตัดชิ้นงานได้ ซึ่งแทนที่จะได้ผิวงานที่เรียบ ก็กลายเป็นผิวหยาบสะท้านแทน ดังนั้นในทางปฏิบัติจริงนั้น ทฤษฎีที่เราเรียนรู้มาต้องดูควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นด้วย

นอกจากความเรียบผิว และแรงต้านในการตัดที่สัมพันธ์กับมุมมน R ก็ยังมีเรื่องการหักเศษ ซึ่งมุมมน R จะส่งผลที่แตกต่างกัน จากรูปจะเห็นว่าถ้า R ใหญ่ กับ R เล็กในเงื่อนไข V, F และ DOC เท่ากัน R ใหญ่จะได้เนื้อเศษที่กลึงออกมาบางกว่า R เล็ก เมื่อเศษบาง ก็จะส่งผลให้เศษกลึงนั้นหักตัวได้ยากขึ้น

อย่างที่พูดคุยกันมาหลายๆครั้งครับว่า ถ้าเรารู้ที่มาที่ไปของปัจจัย V, f, DOC และโครงสร้างทางกายภาพของเม็ดมีดต่างๆ อย่างมุมมน R ก็จะทำให้เราสามารถเลือกเม็ดมีด และปรับตั้งเงื่อนไขให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพของเม็ดมีดที่เราเลือกมา ค่อยๆเรียนรู้กันไปเพื่อให้เราสามารถเลือกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งๆขึ้นในอนาคตครับ